ชื่อโครงการงานวิจัย: ผลของโปรแกรมการเสริมสร้างการรับรู้สมรรถนะแห่งตนต่อความรู้และการรับรู้สมรรถนะแห่งตนของอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้านในการดูแลผู้ป่วยเบาหวานและความดันโลหิตสูงในชุมชน ของจังหวัดแห่งหนึ่ง ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (ตอนใต้)*

ประเภทโครงการงานวิจัย: บทความวิจัย

ชื่อผู้วิจัย:

ผู้วิจัยร่วม: ภาวิณี พรหมบุตร เอื้อจิต สุขพูล กิตติภูมิ ภิญโย

การเผยแพร่/แหล่งเผยแพร่: วารสารพยาบาลสงขลานครินทร์ ปีที่ 35 ฉบับที่ 3 กันยายน - ธันวาคม 2558

ปีงบประมาณที่สำเร็จ: 2557

วัน เดือน ปี ที่เริ่มทำ: 2557

วัน เดือน ปี ที่สำเร็จ: 2557

เอกสารประกอบ: -

บทคัดย่อ:

การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาผลของโปรแกรมการเสริมสร้างการรับรู้สมรรถนะแห่งตนต่อความรู้และการรับรู้สมรรถนะแห่งตนของอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้านในการดูแลผู้ป่วยเบาหวานและความดันโลหิตสูงในชุมชน ของจังหวัดแห่งหนึ่งในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (ตอนใต้) เป็นงานวิจัยแบบกึ่งทดลอง (ศึกษาก่อน-หลังในกลุ่มเดียว) กลุ่มตัวอย่างคือ อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน จำนวน 30 คน จากการสุ่มแบบง่าย ทุกรายได้เข้าร่วมโปรแกรมการเสริมสร้างการรับรู้สมรรถนะแห่งตน เก็บรวบรวมข้อมูลระหว่างเดือนกรกฎาคม ถึงเดือนสิงหาคม 2556 เครื่องมือที่ใช้ในการทดลอง ได้แก่ โปรแกรมการเสริมสร้างการรับรู้สมรรถนะแห่งตน คู่มือการดูแลผู้ป่วยเบาหวานและความดันโลหิตสูงในชุมชน เครื่องมือที่ใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูล คือ แบบประเมินความรู้และแบบประเมินการรับรู้สมรรถนะแห่งตนในการดูแลผู้ป่วยเบาหวานและความดันโลหิตสูงในชุมชน วิเคราะห์ข้อมูลด้วยสถิติเชิงบรรยายและสถิติ Paired t-test ผลการวิจัยพบว่า อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน ส่วนใหญ่เป็นเพศหญิง (ร้อยละ 76.7) มีอายุอยู่ในช่วง 41-50 ปี (ร้อยละ 63.4) มีระยะเวลาการปฏิบัติงานอยู่ในช่วง 25-48 เดือนและมากกว่า 120 เดือน (ร้อยละ 23.3) หลังทดลอง มีความรู้ในระดับมากเพิ่มขึ้นจากร้อย 70 เป็นร้อยละ 93.3 มีการรับรู้สมรรถนะแห่งตนในระดับมากเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 33.3 เป็นร้อยละ 56.7 และพบว่า ความรู้ของอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้านหลังได้รับโปรแกรมสูงกว่าก่อนได้รับโปรแกรม อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ p<.001 และการรับรู้สมรรถนะแห่งตนของอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้านหลังได้รับโปรแกรมการเสริมสร้างการรับรู้สมรรถนะแห่งตนมีการรับรู้สูงกว่าก่อนได้รับโปรแกรม อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ p<.001 ผลการศึกษาครั้งนี้มีข้อเสนอแนะว่า ควรมีการพัฒนาการรับรู้สมรรถนะแห่งตนของอาสาสมัครสาธารณสุขควบคู่กับการอบรมพัฒนาความรู้ เพื่อให้เกิดการพัฒนาตนเอง นำไปสู่ความมั่นใจในการดูแลสุขภาพของประชาชนในชุมชนและการดูแลผู้ป่วยเรื้อรังในชุมชนได้ตามบทบาทของอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้านอย่างยั่งยืนและเกิดสุขภาพดีแบบองค์รวมของชุมชน คำสำคัญ : อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน / การรับรู้สมรรถนะแห่งตน / โปรแกรมการเสริมสร้างการรับรู้สมรรถนะแห่งตน