ติดตามลงพื้นที่ Filed trip: Prince Mahidol Award Conference 2014

28 - 29 พฤษภาคม 2557  อำเภออุบลรัตน์และอำเภอน้ำพอง




บทสรุปสำหรับผู้บริหาร

โครงการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้และประสบการณ์ ด้านการผลิตบัณฑิตพยาบาล เพื่อตอบสนองความต้องการของระบบสุขภาพชุมชนในระดับนานาชาติ

 

ปัจจุบันอัตราการขาดแคลนพยาบาลของประเทศไทยได้เข้าสู่ภาวะวิกฤติ และมีแนวโน้มรุนแรงมากขึ้น จากฐานข้อมูลสภาการพยาบาลปี2551 พบว่าอัตราส่วนพยาบาลต่อประชากร เท่ากับ 1: 483 คนโดยเฉพาะภาคอีสาน มีอัตราส่วน 1:611 คน และพบว่าจำนวนพยาบาลจบใหม่ที่ทดแทนพยาบาลที่ลาออกอยู่ในสถานะติดลบปีละ 2,000 กว่าคน (สภาการพยาบาล,2552)ซึ่งส่งผลกระทบต่อคุณภาพการดูแลสุขภาพประชาชน หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับด้านของสาธารณสุขจังหวัดขอนแก่น จึงมีแนวคิดแก้ไขปัญหาขาดแคลนพยาบาล ภายใต้โครงการผลิตพยาบาลชุมชน เพื่อชุมชน ของชุมชน และโดยชุมชน ในปีพ.ศ. 2552-2558 โดยมีวิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนีขอนแก่น หน่วยงานในสังกัดสถาบันพระบรมราชชนก กระทรวงสาธารณสุข ทำหน้าที่เป็นแหล่งผลิตพยาบาลสู่การเป็นพยาบาลวิชาชีพที่ทำงานในชุมชนเพื่อตอบสนองปัญหาของประชาชนในจังหวัดขอนแก่น

 

1. การสร้างเครือข่ายผลิตพยาบาลชุมชนเพื่อชุมชน

จุดเริ่มต้นของโครงการผลิตพยาบาลชุมชนจึงเป็นความร่วมมือของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับด้านสุขภาพและชุมชน ภายใต้บันทึกข้อตกลง ความร่วมมือในการผลิตพยาบาลตามโครงการผลิตพยาบาลชุมชน เพื่อชุมชน ของชุมชน และโดยชุมชน จังหวัดขอนแก่น ประจำปีงบประมาณ 2552 – 2558 ระหว่าง สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดขอนแก่น ร่วมกับสถาบันพระบรมราชชนก ซึ่งก่อให้เกิดการทำงานแบบเป็นหุ้นส่วนระหว่างของเครือข่ายการทำงานของ 3 หน่วยงานในจังหวัดขอนแก่น อันประกอบด้วย วิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนีขอนแก่น ทำบทบาทหน้าที่เป็นสถานที่ผลิตนักศึกษาพยาบาลเพื่อตอบสนองความต้องการของชุมชน  สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดขอนแก่น ได้แก่ โรงพยาบาลชุมชน โรงพยาบาลทั่วไป และโรงพยาบาลศูนย์ โดยการนำของโรงพยาบาลน้ำพอง โรงพยาบาลอุบลรัตน์ และโรงพยาบาลขอนแก่น เป็นสถานที่คัดเลือกบุคคลเข้าศึกษาหลักสูตรพยาบาลศาสตร์ และขยายการมีส่วนร่วมสู่ชุมชนโดยมีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเป็นผู้ให้ทุนสนับสนุนการศึกษาของนักศึกษาพยาบาลเพื่อกลับมาพัฒนาท้องถิ่นของตนเอง

 

2. เส้นทางการผลิตพยาบาลชุมชน

วิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนี ขอนแก่น ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ทำหน้าที่ในการผลิตพยาบาลชุมชน จึงได้มีการปรับปรุงกระบวนการผลิตพยาบาลชุมชนเพื่อตอบสนองปัญหาการขาดแคลนพยาบาล และสภาพปัญหาและความต้องการของชุมชนอย่างแท้จริง เพื่อให้เกิดนักปฏิบัติการพยาบาลชุมชนมืออาชีพ ด้วยกระบวนทัศน์ 4 หลัก ได้แก่  

1)      การทำงานแบบเป็นภาคีหุ้นส่วนกับสถานบริการสุขภาพและชุมชน

2)      การทบทวนหลักสูตร ที่เน้นความรู้ ทัศนคติ และ ทักษะในด้านการพยาบาลชุมชน

3)      การปฏิรูประบบการการสอนเพื่อตอบโจทย์ปัญหาของท้องถิ่น

4)      การออกแบบการเรียนการสอนที่พัฒนารูปแบบการเรียนการสอนที่ฝึกประสบการณ์ด้านการ

พยาบาลชุมชน

โดยกระบวนการผลิตพยาบาลเพื่อชุมชนดังกล่าวอยู่ภายใต้แนวคิดการให้การดูแลด้วยจิตบริการ    

หัวใจความเป็นมนุษย์ในตลอดระยะเวลา 4 ปี ของกระบวนการเรียนการสอนเพื่อให้ผู้เรียนเกิดการเปลี่ยนผ่านตนเองสู่การมีจิตบริการเพื่อชุมชนอย่างแท้จริง

 

3. ผลผลิตพยาบาลชุมชน

จากการดำเนินการผลิตพยาบาลชุมชน 5 ปีที่ผ่านมา มีจำนวนนักศึกษาทุนพยาบาลชุมชนทั้งหมด 200 คน พบว่าการมีส่วนร่วมของชุมชนในการผลิตพยาบาลชุมชนเพิ่มมากขึ้น ดังพบว่าในระยะปีที่ 1 และ 2 ของโครงการ ในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเข้าร่วมโครงการ 7 และ แปด อำเภอในจังหวัดขอนแก่น แต่ในปีที่ 3 และ 4 ของโครงการพบว่า องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีส่วนร่วมในการดำเนินโครงการเพิ่มมากกว่า 2 เท่า (ปีที่ 3 จำนวน 18 อำเภอ และ ปีที่ 4 จำนวน 14 อำเภอ) ทำให้ขยายโครงการครอบคลุมทุกอำเภอในจังหวัดขอนแก่น ซึ่งในปี 2556 สามารถผลิตพยาบาลเพื่อกลับไปดูแลสุขภาพของคนในชุมชน จำนวน 50 คน และกำลังอยู่ในระหว่างการศึกษาในปีที่ 2 – 4 อีกจำนวน 150 คน และพบว่าได้รับเสียงสะท้อนที่ดีของชุมชนต่อการทำบทบาทหน้าที่ของพยาบาลชุมชน ชุมชนเกิดความรู้สึกเป็นเจ้าของร่วม “มีพยาบาลเป็นของเจ้าของ”  ซึ่งทำให้สามารถลดปัญหาความไม่เท่าเทียมกันในระบบสุขภาพได้อย่างเป็นรูปธรรม

 

4. บทเรียนรู้การผลิตพยาบาลชุมชนเพื่อชุมชน

          กระบวนการผลิตพยาบาลชุมชนโดยชุมชนเพื่อชุมชนของจังหวัดขอนแก่น อาศัยกระบวนการสร้างการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง และกระบวนการปรับปรุงและพัฒนาการเรียนการสอนที่เชื่อมโยงสู่สภาพปัญหาของท้องถิ่นภายใต้กระบวนทัศน์ใหม่ของผู้บริหารองค์กร ทำให้เกิดบทเรียนรู้กระบวนการผลิตพยาบาลชุมชนเพื่อแก้วิกฤติการขาดแคลนพยาบาล ตอบสนองปัญหาสุขภาพของประชาชน และกระบวนการเปลี่ยนผ่านนักศึกษาพยาบาลสู่การเป็นพยาบาลชุมชนเพื่อชุมชนอย่างแท้จริงของประเทศไทย ที่สามารถใช้เป็นบทเรียนรู้สำหรับประเทศไทยและสากล 4 ประการ คือ

1) การขับเคลื่อนเชิงนโยบายในระดับท้องถิ่นเพื่อแก้ไขปัญหาสุขภาพของชุมชนโดยชุมชน

2) การปฏิรูปการศึกษาด้านสุขภาพเพื่อตอบสนองปัญหาของชุมชนอย่างแท้จริง

3) กระบวนการเปลี่ยนผ่านผู้เรียนวิชาชีพด้านสุขภาพสู่การมีจิตบริการด้วยหัวใจความเป็นมนุษย์

4) การพัฒนาผู้เรียนสู่การเป็นนักปฏิบัติการพยาบาลชุมชนมืออาชีพ

 

5. พื้นที่แลกเปลี่ยนเรียนรู้การประชุมนานาชาติ รางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล:กระบวนการเปลี่ยนผ่านด้าน

    การศึกษาเพื่อสร้างความเท่าเทียมของการดูแลสุขภาพชุมชน

รูปธรรมความร่วมมือของการผลิตพยาบาลชุมชนเพื่อชุมชนของจังหวัดขอนแก่น ทำให้เกิดการยอมรับเป็นพื้นที่แลกเปลี่ยนเรียนรู้ทั้งในประเทศและต่างประเทศ จนได้รับการคัดเลือกให้เป็นสถานที่ศึกษาภาคสนาม 1ใน 6 ของการประชุมนานาชาติ รางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ปีพ.ศ.2557(Prince Mahidol Award Conference 2014) ของผู้นำวิชาชีพด้านสุขภาพ ในวันที่ 28 มกราคม 2557 จำนวน 16 คน จากประเทศออสเตรเลีย ประเทศสหรัฐอเมริกา ประเทศญี่ปุ่น ประเทศเคนย่า ประเทศคอสตาริกา และประเทศไทย ซึ่งเสียงสะท้อนจากคณะศึกษาดูงานว่าเป็นโครงการที่มีประโยชน์ต่อการแก้ไขปัญหาสุขภาพและมีคุณค่าควรที่จะมีการเผยแพร่สู่สากล ซึ่งผลผลิตของกระบวนการผลิตพยาบาลชุมชน จังหวัดขอนแก่น จะมีการนำเสนอในเวทีการประชุมนานาชาติ รางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ปีพ.ศ. 2557 ที่จังหวัดชลบุรี ระหว่างวันที่ 29 – 31มกราคม พ.ศ.2557 นี้