ชื่อโครงการงานวิจัย: แบบจำลองการบริการสร้างเสริมสุขภาพผู้สูงอายุที่อาศัยอยู่ในชุมชนโดยตัวแบบสร้างเสริมสุขภาพ: กรณีศึกษาจังหวัดขอนแก่น

ประเภทโครงการงานวิจัย: บทความวิจัย

ชื่อผู้วิจัย: ดร.ศิราณี ศรีหาภาค

ผู้วิจัยร่วม: พัชรินทร์วินา เพิ่มยินดี วิไลวรรณ วัฒนานนท์ นิรมล สมตัว

การเผยแพร่/แหล่งเผยแพร่: โรงแรมธรรมรินทร์ธนา อำเภอเมือง จังหวัดตรัง

ปีงบประมาณที่สำเร็จ: 2557

วัน เดือน ปี ที่เริ่มทำ: 0

วัน เดือน ปี ที่สำเร็จ: 2557

เอกสารประกอบ: -

บทคัดย่อ:

รายงานการวิจัยครั้งนี้เป็นการวิจัยเชิงปฏิบัติการ (Action Research)ในพื้นที่เขตกึ่งเมือง จังหวัดขอนแก่น มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาแบบจำลองการบริการสร้างเสริมสุขภาพผู้สูงอายุในชุมชนโดยตัวแบบสร้างเสริมสุขภาพ ของวิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนีขอนแก่น ซึ่งประกอบด้วย 4 ขั้นตอน ได้แก่ ขั้นตอนที่ 1 การสร้างตัวแบบสร้างเสริมสุขภาพ ขั้นตอนที่ 2 ประเมินภาวะสุขภาพและปัจจัยเสี่ยงของผู้สูงอายุในชุมชน ขั้นตอนที่ 3 พัฒนากระบวนการส่งเสริมสุขภาพของผู้สูงอายุที่เหมาะสมกับวัฒนธรรมชุมชน ขั้นตอนที่ 4 ประเมินผลรูปแบบการป้องกันภาวะทุพพลภาพ กลุ่มประชากรเป้าหมายในการศึกษาครั้งนี้ ประกอบด้วย 3 กลุ่ม คือ ผู้สูงอายุ จำนวน 200 คน อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน จำนวน 60 คน และ นักศึกพยาบาลศาสตรบัณฑิต ชั้นปีที่ 2 จำนวน 216 คน

ผลการศึกษาพบว่า 1) กระบวนการสร้างตัวแบบสร้างเสริมสุขภาพเป็นการปลูกจิตสำนึกผ่านการปฏิบัติของผู้เรียน โดยการประกาศนโยบายสาธารณะเพื่อการสร้างเสริมสุขภาพ ให้นักศึกษาร่วมกำหนดบรรทัดฐานของกลุ่มเพื่อการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพ การสนับสนุนประสบการณ์ดำเนินกิจกรรมสร้างเสริมสุขภาพ และติดตามประเมินและสะท้อนผลการพัฒนาตัวแบบสร้างเสริมสุขภาพ ซึ่งพบว่าทำให้ นักศึกษาร้อยละ 100 มีสมรรถนะการปฏิบัติงานสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันการเจ็บป่วย และผ่านสมรรถนะชั้นปี 2) ผู้สูงอายุในชุมชน 2 ใน 3 จัดอยู่ในกลุ่มเสี่ยงจากการเจ็บป่วยด้วยโรคเรื้อรัง  ได้แก่ โรคความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน โรคข้อเสื่อม มะเร็ง หัวใจ และ โรคหอบหืด และร้อยละ 58.6 ป่วยด้วยโรคเรื้อรังมากกว่า 2 ชนิด และพบว่าร้อยละ 16.2ที่สูบบุหรี่ และเกือบ 1 ใน 6 ดื่มเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์ และพบว่าร้อยละ 32.8 ที่ไม่ได้มีกิจกรรมด้านร่างกาย 3) กระบวนการสร้างเสริมสุขภาพผู้สูงอายุในชุมชนเป็นการส่งเสริมการใช้ภูมิปัญญาและเครือข่ายทางสังคมของชุมชนในการดูแลสุขภาพผู้สูงอายุด้วยตนเองซึ่งส่งผลให้ผู้สูงอายุในชุมชนมีพฤติกรรมการออกกำลังกายเพิ่มขึ้นมากกว่า ร้อยละ 50 และมีกลุ่มออกกำลังกายของผู้สูงอายุในชุมชนที่ดำเนินกิจกรรมสม่ำเสมอติดต่อกันเกือบ 3 ปี ทำให้เกิดการมีส่วนร่วมในการดูแลผู้สูงอายุในชุมชน และเป็นแบบอย่างของบริการผู้สูงอายุในชุมชนของสถานศึกษา

การวิจัยครั้งนี้จึงสรุปได้ว่าการพัฒนาผู้เรียนโดยการเรียนรู้จากการปฏิบัติตามแนวคิดของ OTTAWA Charter สามารถพัฒนาผู้เรียนให้เป็นนักสร้างเสริมสุขภาพ และนำไปสู่การสร้างเสริมสุขภาพของกลุ่มผู้สูงอายุซึ่งเป็นกลุ่มที่ประสบปัญหาภาวะสุขภาพในในชุมชน

 

คำสำคัญ:การสร้างเสริมสุขภาพ, ผู้สูงอายุที่อาศัยอยู่ในชุมชน, แบบจำลอง